608a8a75 1284 4f11 ba94 7393d474a23a

เรามักได้ยินอยู่เสมอว่าไม่ควรกินยาพร้อมกับนม แต่หลายคนยังไม่ทราบว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร และถ้ากินคู่กันแล้วจะมีอันตรายหรือไม่ Tonkit360 จึงรวบรวมข้อมูลที่จะช่วยไขข้อสงสัยนี้มาฝากกัน

แคลเซียมในนมทำปฏิกิริยากับยา

เนื่องจากในนมมีปริมาณแคลเซียมสูง เมื่อดื่มนมควบคู่กับยา จึงทำให้แคลเซียมทำปฏิกิริยากับยาที่รับประทานเข้าไป โดยมักจะส่งผลให้ยาหมดฤทธิ์ และทำให้ประสิทธิผลของยาหมดไป รวมถึงส่งผลต่อการดูดซึมของยาด้วย แพทย์จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการกินยากับเครื่องดื่มจำพวกนมนั่นเอง

นมอะไรบ้างที่ห้ามกินกับยา

นมทุกประเภทล้วนทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาได้ ทั้งนมแม่ นมจากสัตว์ (นมวัว นมแพะ นมแกะ) นมจากพืช (นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโพด) รวมถึงนมพาสเจอร์ไรซ์ (นมสดผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 63-65 องศาเซลเซียส) นมสเตอริไลซ์ (นมสดที่ผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 118 องศาเซลเซียส) และนมยูเอชที (นมสดผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 135-150 องศาเซลเซียส) ด้วย

กินยากับน้ำเปล่าได้ผลที่สุด!

เหตุผลที่ควรกินยาพร้อมกับน้ำเปล่า เป็นเพราะทำให้ตัวยาแตกตัว ละลายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีที่สุด เนื่องจากน้ำเปล่าไม่มีปริมาณของแร่ธาตุหรือสารอาหารใดสูงจนเกิดปฏิกิริยากับยาและลดประสิทธิผลของยาได้

แต่ถ้าเป็นเด็กหรือผู้ที่มีปัญหาในการกลืนยา จนไม่สามารถกลืนยาพร้อมกับการดื่มน้ำได้ อาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีด้วยการผสมยาเพื่อช่วยให้กลืนยาได้ง่ายขึ้น ซึ่งแพทย์แนะนำให้ผสมกับน้ำเปล่าเช่นกัน ซึ่งหลังจากผสมยากับน้ำแล้ว ให้ดื่มจนหมดเพื่อให้ยาในปริมาณที่ครบถ้วน และอย่าทิ้งไว้เกิน 2 ชั่วโมง

เว้น 2 ชั่วโมง ถ้าบริโภคผลิตภัณฑ์นม

หากจะดื่มนมหรือบริโภคผลิตภัณฑ์นม อาทิ เนย, ชีส, โยเกิร์ต จะต้องเว้นระยะเวลา 2 ชั่วโมงทั้งก่อนและหลังรับประทานยา เพื่อป้องกันไม่ให้ยาและแคลเซียมทำปฏิกิริยากันในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก ซึ่งหลังจาก 2 ชั่วโมงไปแล้ว ถือเป็นเวลามากพอที่จะไม่ทำให้ยาเคลื่อนที่ไปพบกันในระบบทางเดินอาหาร